วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Learning Log ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
(14/03/2559)
            งานแปลที่ดีจำเป็นต้องเขียนด้วย ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งก็หมายถึง ภาษาเขียนและภาษาพูดที่คนไทยทั่วไปใช้กันจริงในสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยและผู้อ่านผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ทันทีไม่มีอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล อ่านแล้วเข้าใจ ความหมายของภาษายังคงความหมายเดิม นักแปลต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาตินั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบย่อยของการแปล ได้แก่ คำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งของการแปล
            คำและความหมาย คำบางคำมีความหมายแตกต่างกัน คำหนึ่งคำมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงหรือความหมายเปรียบเทียบ ซึ่งหากต้องการเข้าใจความหมายอย่างชัดเจน จำเป็นต้องดูจากบริบทรอบๆด้วย คำบางคำที่มีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ในอดีตมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันแตกต่างไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง คำว่า กู เดิมเป็นคำสามัญที่ใช้พูดจากันทั่วไป แต่ปัจจุบันเป็นคำหยาบ บางครั้งในการพูดหรือการเขียนที่ต้องการแสดงอารมณ์ อาจจะนำคำที่มีความหมายไม่ใช่ให้เกิดความหมายที่ดีขึ้นได้ เช่น เก่งบรรลัย มีความหมายว่า เก่งมาก แล้วยังมีองค์ประกอบย่อยคือ การสร้างคำ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความหมายของภาษามากยิ่งขึ้น
            การสร้างคำกริยาคือเสริมท้ายคำกริยาด้วยคำกริยา บางครั้งอาจจะเห็นว่าทำให้ภาษายุ่งยาก อย่างไรก็ตามบางครั้งก็ชัดเจนมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงดั้งเดิมของมัน คำกริยาส่วนมากที่จะนำมาเสริมท้ายนั้น ได้แก่ ขึ้น ลง ไป มา จะไม่มีความหมายเดิมเหลืออยู่เลย แต่กลายเป็นคำบอกปริมาณและทิศทาง ยกตัวอย่างเช่น ทำขึ้น ช้าลง จากไป กลับมา ซึ่งมาการนำคำ ไป มา ขึ้น ลง มาคู่กัน จะหมายความว่าการทำซ้ำๆ บ่อยๆ เช่น เดินไปเดินมา และนอกจากนี้ยังมีการเข้าคู่คำ คือการนำหลายคำมาคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่โดยมีความหมายใหม่หรือมีความหมายเดิม ยกตัวอย่างเช่น คู่คำพ้องความหมายจะเป็นคำในภาษาเดียวกัน หรือคำต่างประเทศ หรือคำภาษาถิ่นก็ได้ ส่วนมากความหมายจะคงเดิม เช่น ทรัพย์สิน เสื่อสาด
            ต่อมาในเรื่องของสำนวนโวหาร ในการแปลขั้นสูงนั้นผู้แปลจะต้องรู้จักสำนวนการเขียน ซึ่งมีการใช้สำนวนโวหารหลายๆแบบ ซึ่งการอ่านจะทำให้เราคุ้นเคยกับสำนวนโวหารแบบต่างๆ แต่สำนวนไทยมักจะถูกละเลยหลงลืมจนกลายเป็นสิ่งเข้าใจยากสำหรับคนไทย ดังนี้ สำนวนประกอบด้วยคำว่า ให้  ให้ ในสำนวนเช่นนี้ไม่มีความหมายเหมือนเมื่อเป็นกริยาสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ให้เขาไปเถอะ ให้ในที่นี้แปลว่า อนุญาต แต่มีความหมายอย่างอื่นดังต่อไปนี้ ได้แก่ จนกระทั่ง เช่นในสำนวนว่า รับประทานให้หมด ฟังให้จบ ดูให้ทั่ว อีกความหมายหนึ่ง กับแก่ คำที่ตามหลัง ให้ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง เช่น พ่อค้าขายของให้ลูกค้า คุณพ่อซื้อของขวัญให้ลูก ความหมายสุดท้าย เพื่อที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งของวลีที่ทำหน้าที่ขยายกริยา ในกรณีเช่นนี้ ให้ จะวางอยู่ข้างหน้าคำคุณศัพท์ เช่น แต่งตัวให้สบาย เรียนให้เก่ง ดูให้ดี เดินให้เรียบร้อย พูดให้ชัด
            สำนวนที่มีคำซ้ำ หรือหมายถึงทั้งคำเดียวซ้ำกัน (ซ้ำรูป) และคำที่มีความหมายเหมือนกัน (ซ้ำความหมาย) การใช้คำซ้ำมีทั้งดีและเสียปนกันประดุจดาบสองคม ถ้าไม่ระมัดระวังจริงๆทั้งๆที่ตั้งใจจะให้ดีก็อาจกลายเป็นเสียไปได้ ส่วนดีของการใช้คำซ้ำ คือ เพื่อความไพเราะ คำสั้นๆ ถ้ามีการซ้ำรูปจะทำให้สียงทอดยาว อ่อนสลวย ไม่ฟังดูห้วน เพื่อให้ความหมายอ่อนลง เช่น พูดดีๆ นั่งเฉยๆ มักจะใช้กับประโยคคำสั่งเพื่อคลายความบังคับลงให้กลายเป็นขอร้อง บางครั้งการใช้คำซ้ำในกรณีเช่นนี้แสดงความไม่หนักแน่น ไม่แน่ใจ ไม่ปักใจ เพื่อให้ได้คำใหม่ๆใช้ ยกตัวอย่างสำนวนที่ดี เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บ้านช่องห้องหอ อาคารบ้านเรือน ห้อยโหนโยนตัว เป็นต้น
โวหารภาพพจน์ กวีมักจะสร้างภาพพจน์อย่างกว้างขวางสลับซับซ้อน ถ้าผู้อ่านมีความรู้ด้านนี้น้อยก็จะอ่านงานเขียนไม่เข้าใจ ดังนั้น เราควรศึกษาแนวคิดในการใช้โวหารภาพพจน์ ซึ่งทั้งผู้เขียนทั้งเก่าและใหม่ทุกชาติ ทุกภาษาใช้ร่วมกัน ดังนี้ โวหารอุปมา (Simile) เป็นการสร้างภาพพจน์ด้วยการเปรียบเทียบ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการชี้แจงอธิบาย โวหารต่อมาคือ โวหารอุปลักษณ์ (Metaphor) เป็นการเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนกับไม่เหมือนมาเปรียบเทียบ โวหารเย้ยหยัน (Irony) คือการใช้ภาษาด้วยอารมณ์ขันเพื่อการเย้ยหยันเหน็บแนม โวหารขัดแย้ง (Contrast or Antithesis) คือการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกันเรียงต่อกันโดยรักษาสมดุลไว้ โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonymy) โดยการนำคุณสมบัติสิ่งหนึ่งมาแทนทั้งหมด โวหารบุคลาธิษฐาน (Personification) คือการนำสิ่งต่างๆที่ไม่มีชีวิตรวมทั้งความคิด การกระทำและนามธรรม โวหารที่กล่าวเกินจริง (Hyperbole) โวหารแบบนี้มีจุดประสงค์ที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้ชัดเจนและชัดเจนมากขึ้น
            ดังนั้นส่วนของลักษณะที่ดีของโวหาร ในหนังสือที่แต่งดีนั้น มักจะประกอบด้วยสำนวนโวหารที่มีลักษณะที่ดีดังต่อไปนี้ ถูกต้องตามหลักภาษานั่นคือการไม่ขัดกับหลักไวยากรณ์ ถึงแม้จะพลิกแพลงบ้างแต่ยังคงความหมายเดิมอยู่ ไม่กำกวม สำนวนโวหารที่ดีจะชัดเจน แม่นยำ มีความชัดเจนต่อมาคือ มีชีวิตชีวาคล้ายๆกับคำว่า ภาษามีชีวิต สามารถดิ้นได้ ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกกระตือรือร้น มีความรู้สึกอยากอ่านต่อ และลักษณะที่ดีของโวหารข้อสุดท้าย คือ น่าเชื่อถือ มีเหตุผลรอบคอบ ไม่มีอคติ ไม่สร้างความสับสนให้ผู้อ่าน และเกิดความประทับใจในการอ่านเรื่องนั้นๆอีกข้อของลักษณะที่ดีของโวหาร คือ คมคายเฉียบแหลม นั่นคือการใช้คำพูดที่เข้มข้น หนักแน่น แต่แฝงข้อคิดที่ฉลาด สามารถนำมาเตือนสติได้ ซึ่งภาษาเหล่านี้เราสามารถนำมาประยุกต์กับการแปลได้อย่างมากมาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น